ความสัมพันธ์ของการเรียนดนตรีและการเรียน coding ที่พ่อแม่ควรรู้

By Thai Pianist, 18 January 2022

ดนตรีกับการเขียน coding คือเส้นขนานหรือทางแยก
‘ดนตรี’ กับ ‘coding’ อยู่ด้วยกันได้มั้ย
ถ้าให้ลูกเรียนทั้งสองอย่างจะสับสนหรือไม่ ?

จริง ๆ ต้องก่อนว่าทั้งสองวิชานี้ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือการเขียนโค้ด (coding) ต่างก็เป็นวิชาที่เรียกได้ว่านิยมมาก ๆ ในปัจจุบัน เพราะด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ของเด็กไม่ได้เรียนรู้แค่เพียงวิชาพื้นฐานในห้องเรียนแต่เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากสื่อที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่สอดแทรกการเรียนรู้อยู่เสมอ จึงไม่แปลกเลยที่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้ลูกได้เรียนวิชาอย่างดนตรีและการเขียนโปรแกรมนอกห้องเรียน

โดยเฉพาะวิชาโค้ดดิ้งที่ต้องบอกเลยว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ กลายเป็นวิชาสำคัญที่เด็ก ๆ ควรเริ่มต้นศึกษาให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะในปัจจุบันโลกของเราขับเคลื่อนไปด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แทบจะทุกอย่างถูกรันด้วยคำสั่งที่เกิดจากการเขียนโค้ดเป็นภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อให้ระบบต่าง ๆ สามารถทำตามคำสั่งได้อย่างที่มนุษย์ต้องการ

ในขณะเดียวกันวิชาดนตรีก็นิยมไม่แพ้กัน เพราะด้วยความที่เป็นวิชาที่เรียนแล้วก็ถือเป็นความสามารถพิเศษ เสริมสร้างสมาธิ รวมถึงเป็นวิชาที่สนุกสนาน ไม่เครียด สร้างความสุขจากเสียงเพลงได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องสุนทรียะมากขึ้นด้วย เราจึงมักเห็นเด็ก ๆ ไปเรียนพิเศษด้านดนตรีกันหรือบางคนก็มีครูดนตรีมาสอนพิเศษที่บ้าน

อ่านถึงตรงนี้อาจจะงงว่า ทั้งสองวิชาดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้เลยนะ แล้วจะไปด้วยกันได้อย่างไร?

เพราะวิชาโค้ดดิ้งก็ดูยากด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีหลักการมากมาย แถมถ้าเขียนผิดโปรแกรมก็รันไม่ได้ วิชาดนตรีเองก็ดูเป็นวิชาที่สนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนวิชาอื่น ๆ ได้ ทำให้ดูเหมือนว่าสองวิชานี้จะเป็น ‘ทางแยก’ ต่อกันอย่างสิ้นเชิง

แต่จริง ๆ ทั้งสองวิชานี้มีจุดที่ทำให้ทั้งสองวิชามาเจอกันได้อย่างลงตัวมาก ๆ คือ ทั้งสองวิชานั้นมีระบบและรูปแบบที่ชัดเจน (formal system) กันทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็น กฎ (rules), ไวยากรณ์ (Syntax), การใช้ตรรกะ (logic) อย่างวิชาโค้ดดิ้งก็จะมีหลักการในเรื่อง ถ้าอยากจะให้คำสั่งเป็นแบบนี้ จะต้องป้อนคำสั่งแบบไหน ในทางดนตรีเองถ้าอย่างจะให้เสียงที่บรรเลงออกมาไพเราะก็จะต้องจัดระเบียบตัวโน้ตให้ถูกต้อง

ดังนั้นจะบอกว่าทั้งสองวิชาเป็นทางแยกก็ไม่ถูกนัก เพราะสองวิชานี้ดูเหมือนเป็น ‘เส้นขนาน’ ซึ่งกันและกันมากกว่า เพราะนอกจากจะมีจุดที่เหมือนกันแล้ว ทั้งสองวิชาก็ช่วยสร้างประโยชน์ในการพัฒนาทักษะของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น

1. ทักษะการวางแผน

ทั้งการเขียนโค้ดและการเล่นดนตรี จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการบรรเลงหรือรันโปรแกรม

2. ทักษะการคิด

นอกจากจะต้องวางแผนแล้ว การระดมความคิดเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนทั้งสองวิชา เป้าหมายของโค้ดดิ้งก็คือโปรแกรมสามารถรันได้ ส่วนเป้าหมายของดนตรีก็คือบรรเลงออกมาได้อย่างไพเราะนั่นเอง

3. ทักษะการให้เหตุผล

ทั้งสองวิชา มีการใช้เหตุผลในตัวอยู่แล้ว ไม่ใช่การบรรเลงไปตามใจและไม่ใช่การเขียนคำสั่งตามใจ ดังนั้นกว่าจะทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ ทั้งสองวิชาจะต้องใช้เหตุผลมากมาย ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญที่จะใช้ในวิชาอื่น ๆ ได้ด้วย

4. ทักษะการแก้ปัญหา

ปัญหาเกิดได้ทุกเมื่อ ในการเขียนโค้ดก็อาจจะเป็นมีตัวอักษรผิดไปสักนิดทำให้ต้องแก้ไขให้ทันท่วงที หรือในทางดนตรีก็จะต้องรู้จักคำว่า ‘the show must go on’ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะมีปัญหาอย่างไรทุกอย่างจะต้องดำเนินไปจนสำเร็จนั่นเอง

สุดท้ายแล้วทั้งสองวิชานี้ก็เรียกว่าเป็นเส้นขนานของกันและกันจริง ๆ ไม่ว่าจะเรียนเฉพาะดนตรีหรือเรียนเฉพาะโค้ดดิ้งก็จะช่วยทำให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้เท่า ๆ กัน เพียงแต่ถ้าเรียนได้ทั้งสองอย่างเส้นขนานทั้งสองเส้นนี้ อาจจะกลายเป็นเส้นทางที่สวยงามของเด็ก ๆ ในอนาคตได้อย่างดีทีเดียว

สำคัญว่าพ่อแม่เองก็อย่ากดดันลูกมากเกินไป ให้เขาสนุกกับทั้งสองวิชา จะเป็นการเล่นเกมก็ได้ ปัจจุบันก็มีหลายเว็บไซต์ที่ช่วยสอนการเขียนโค้ดดิ้งผ่านเกมที่ให้เด็กได้ลองเขียนโค้ดเพื่อพิชิตภารกิจต่าง ๆ ไปด้วย หรือจะเป็นโปรแกรม Sonic Pi ที่ให้เด็กเรียนการเขียนโค้ดดิ้งผ่านการสร้างบทเพลงก็น่าสนใจไม่น้อย ลองให้ลูกได้เรียนทั้งสองวิชาดู ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะมี ‘คนสร้างโลก’ รุ่นเยาว์ เกิดขึ้นก็เป็นได้

หากสนใจหาคุณครูไปสอนที่บ้านทั้งวิชา Coding และดนตรี สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 061-9542244 หรือ 089-6792835
Line : @thaipianist

อ้างอิง
https://bit.ly/3GfbSaj
https://bit.ly/3HMMTeN
https://bit.ly/3JQfiCC

สอบถามข้อมูล